top of page
CU-COLLAR

Ep.1 Collar defines : Decent work : the work of "Human"

อัปเดตเมื่อ 21 ม.ค. 2564


(คอปกขอนิยาม ตอนที่ 1 : งานที่มีคุณค่า)

เราคงต้องยอมรับว่าชีวิตมนุษย์นั้นแยกไม่ขาดจากการทำงาน ทั้งงานที่มีรายได้เป็นตัวเงินและไม่มีรายได้เป็นตัวเงิน หากจะว่ากันตามจริง มนุษย์มีส่วนสร้างงานพอ ๆ กับที่งานสร้างมุนษย์ กล่าวคือ ศักดิ์ศรีส่วนบุคคล ความมั่นคงในชีวิตทั้งด้านการเงินและจิตใจ และคุณค่าของชีวิตมนุษย์ล้วนเกิดจากงานได้ทั้งสิ้น แต่งานอีกนั่นเองที่อาจทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียง “ผู้ทำงาน” แล้วทำอย่างไรเล่างานจึงจะสร้างมนุษย์ งานของมนุษย์จึงไม่ควรเป็นงานในความหมายทั่วไป หากแต่ต้องเป็น “งานที่มีคุณค่า”

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO อธิบายว่ากรอบตัวชี้วัดงานมีคุณค่าครอบคลุมประเด็น 10 ประการ ได้แก่ 1. โอกาสในการจ้างงาน 2. รายได้ที่เพียงพอและการทำงานที่มีประสิทธิผล 3. เวลาทำงานที่เหมาะสม 4. งาน ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว 5. งานที่ควรยกเลิก 6. ความมั่นคงและปลอดภัยในการทำงาน 7. โอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในการจ้างงาน 8. สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย 9. ประกันสังคม และ 10. การเจราจาทางสังคม [1]

จะเห็นว่ากรอบชี้วัด เมื่อกล่าวถึงงานที่มีคุณค่า เราเห็นผู้ที่ทำงานเป็นมนุษย์ ผู้ที่มีทั้งเลือดเนื้อและจิตใจ กล่าวคือ เห็นว่างานมิใช่กิจกรรมที่ทำเพื่อให้มีปัจจัยเลี้ยงร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่เพื่อเลี้ยงจิตใจด้วย เพราะงานสามารถสร้างศักดิ์ศรีส่วนบุคคลและความรู้สึกมั่นคงในชีวิต เราอาจกล่าวเสริมด้วยว่า หากงานที่มีคุณค่าเห็นผู้ที่ทำงานเป็นมนุษย์ งานที่มีคุณค่าย่อมเน้นย้ำว่าคุณค่าของชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งซึ่งละเมิดมิได้ งานที่มีคุณค่าจึงเป็นหลักประกันให้ทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสทำงานที่ดีและมีความมั่นคง ความปลอดภัย ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในที่ทำงานเช่นมนุษย์ทุกคนโดยไม่เกี่ยงฐานะ สีผิว เพศ สภาพร่างกาย หรือเชื้อชาติ ได้พัฒนาตัวเองตามศักยภาพเช่นมนุษย์ตนหนึ่ง การส่งเสริมงานที่มีคุณค่ายังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ดังจะเห็นว่าองค์กรสหประชาชาติได้กำหนดให้ งานที่มีคุณค่าเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 เพราะมนุษย์เป็นพื้นฐานของสังคมทุกสังคม

ดังนั้นคงไม่ผิดไปจากนิยามอย่างเป็นทางการนัก หากเราจะกล่าวว่า งานที่มีคุณค่า คือ งานที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ทำงานทุกคน ทั้งผู้ที่เป็นลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าของกิจการ ผู้ขับเคลื่อนนโยบาย ผู้เป็นตัวแทนภาคประชาชน ผู้เป็นตัวแทนภาควิชาการ

แต่งานที่มีคุณค่ามีลักษณะเช่นเดียวกับอุดมคติทั่วไป คือ ทฤษฎีเป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติจริง การมุ่งเน้นสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวทำให้ความเป็นมนุษย์ถูกละเลยไป เราอาจเรียกสภาพดังกล่าวว่า การขาดดุลของงานที่มีคุณค่า สภาพนี้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ผู้ที่ทำงานไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน งานไม่สร้างโอกาสให้เกิดการจ้างที่เป็นธรรม การทำงานส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ต่ำลงของมนุษย์โดยรวม ผู้ทำงานต้องทำงานโดยไม่มีเครื่องป้องกันอันตรายหรือทำงานในสภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและใจ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งท้าทายการสร้างงานที่มีคุณค่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเลิกจ้างงาน ส่งผลให้ผู้ทำงานมีรายได้ลดลง ถูกลดค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ตกอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่สนับสนุนให้ทำงานและต่อรองเช่นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี หรือถูกเลิกจ้าง กระทบความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว

สถานการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า งานมิได้ส่งเสริมการสร้าง “มนุษย์” เวลาก็ได้ล่วงมานานพอที่เราไม่ควรประวิงเวลาที่จะสร้างงานที่สร้างมนุษย์อีกต่อไป

การสร้างงานที่มีคุณค่ามิอาจสำเร็จได้ด้วยงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายทั้งตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนภาควิชาการต่างมีส่วนร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างงานที่มีคุณค่าเพราะ

มนุษย์สร้างงาน แต่งานที่มีคุณค่าเท่านั้นจึงจะสร้างมนุษย์ได้


[1] (ILO (2008) Decent work indicators: What makes work decent? And how to measure it? Available from https://www.ilo.org/integration/themes/mdw/WCMS_189392/lang--en/index.htm)

ดู 597 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page